ลูกติดโทรศัพท์มือถือแก้อย่างไรดี พร้อมวิธีรับมืออย่างสร้างสรรค์
เมื่อลูกก้าวสู่ช่วงอายุ 7 - 12 ปี คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นพัฒนาการที่สำคัญในทุก ๆ ด้าน ทางร่างกาย พวกเขาจะมีการขยายสัดส่วนที่รวดเร็ว ทั้งความสูง น้ำหนักตัว ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ เด็ก ๆ วัยนี้ควรได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย อย่างการออกกำลังและรวมกลุ่มกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ง่ายมากขึ้น
แต่ในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีรายล้อมรอบตัว หลายบ้านอาจเผลอปล่อยให้ลูกอยู่กับจอมือถือหรือเครื่องเล่นเกมเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการก้าวร้าวจากการติดโทรศัพท์ พ่วงด้วยปัญหาการควบคุมอารมณ์ สมาธิสั้น และสุขภาพที่ไม่แข็งแรงตามมา
เช็กอาการ ลูกเราติดโทรศัพท์มือถือหรือไม่ ?
✓ ใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไป ซึ่งโดยปกติไม่ควรเกิน 16 ชม./สัปดาห์
✓ ก้าวร้าว ชอบทำเสียงดังโวยวาย
✓ สมาธิสั้น จดจ่อกับอะไรไม่ได้นาน
✓ แยกตัวจากสังคม ไม่ยอมออกไปเล่นกับเพื่อน
พ่อแม่ควรสังเกต “ลูกติดโทรศัพท์มือถือ” กับ 5 ผลเสียระยะยาว
การเล่นมือถือหรือเกมออนไลน์เป็นกิจกรรมช่วยผ่อนคลายความเครียดและสร้างความสนุกให้กับเด็ก ๆ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด ปล่อยให้ลูกเพลิดเพลินกับแสงสีฟ้าในท่านั่งเดิมไปเรื่อย ๆ ไม่ขยับไปไหน ก็อาจมีผลเสียต่อพัฒนาการที่ไม่สมวัยของพวกเขาได้
1. ลูกเริ่มปวดศีรษะ ตา และต้นคอ ที่เกิดจากการเพ่งและนั่งผิดท่า หรือรู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อมือจากการกดมือถือท่าเดิม ๆ ซ้ำ ๆ
2. ลูกติดโทรศัพท์ มีอาการก้าวร้าว พูดไม่เพราะ มีอารมณ์ที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไป อ่านวิธีแก้ไขลูกก้าวร้าวเพิ่มเติมได้ที่ วิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าว
3. เข้ากับเพื่อนได้ยาก เพราะไม่ได้ลองแลกเปลี่ยน หรือสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น
4. เลิกสนใจกิจกรรมที่เคยชอบทำ เรียนรู้ได้น้อยลง
5. เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนในเด็ก เพราะเคลื่อนไหวน้อยและกินขนมระหว่างที่เล่น
ปรับพฤติกรรมลูกอย่างสร้างสรรค์ คุณแม่ช่วยได้
การปรับพฤติกรรมลูกที่เริ่มมีการติดโทรศัพท์ไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องห้ามเล่น แต่ใช้วิธีการสร้างวินัยให้กับลูก เช่น ทำการบ้านให้เสร็จก่อน อาบน้ำ ทานข้าวให้เรียบร้อย การจำกัดชั่วโมงในการเล่นหรือชวนลูกออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกายสำหรับเด็กโดยเฉพาะ รวมไปถึงคุณแม่ก็สามารถเข้าร่วมเล่นมือถือกับลูกได้ เช่น เล่นเกมหรือดูรายการในยูทูปไปด้วยกัน เพราะการเล่นมือถือถ้าใช้ให้ถูกวิธีก็สามารถสร้างประโยชน์ได้ และคุณแม่เองก็จะสามารถช่วยให้คำแนะนำกับสิ่งที่ลูกเล่นหรือดูได้อย่างถูกต้อง มาดู 5 วิธีแก้ไขอย่างสร้างสรรค์เพื่อไม่ให้การเล่นมือถือของลูกเกิดผลเสียตามภาพได้เลยค่ะ
1. กำหนดเวลาเล่นให้ชัดเจน โดยไม่ควรเล่นโทรศัพท์เกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง
2. ฝึกให้ลูกรู้จักอดทนและเลี่ยงสื่อที่รุนแรงในมือถือ
3. ให้ลูกออกไปทำกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อนมากขึ้น เช่น เข้าชมรมศิลปะ เรียนพิเศษ เรียนดนตรี
4. พาลูกออกไปทำกิจกรรมครอบครัวด้วยกัน
5. ชวนทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา ฝึกทำอาหารและฝึกกินอาหารที่มีประโยชน์
นอกจากนี้ การหากิจกรรมให้ลูกทำที่บ้าน และการมอบความรักและเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ช่วยลดนิสัยก้าวร้าวจากการติดโทรศัพท์ลงได้ ซึ่งสิ่งนี้ผู้ปกครองควรค่อย ๆ แก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากยังไม่ดีขึ้นก็สามารถขอคำแนะนำจากผู้แพทย์เชี่ยวชาญได้เช่นกัน
อ่านบทความ แก้ปัญหาลูกติดเกมที่คุณแม่ควรรู้ พร้อมวิธีรับมืออย่างสร้างสรรค์
เอกสารอ้างอิง
https://www.princsuvarnabhumi.com/content-mobile-phone/
https://www.phyathai.com/article_detail/3047/th/เลี้ยงเด็กแบบตัดรำคาญ!_ทำลูกติดมือถือสู่ทำลูกติดมือถือสู?branch=PYT1