ปัญหาเด็กติดเกม ที่คุณแม่ควรรู้ กับวิธีการรับมืออย่างสร้างสรรค์
ปัญหาเด็กติดเกมในทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป เนื่องจากในปัจจุบันมีสิ่งล่อตาล่อใจมากมาย ทั้งสื่อเกมออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตที่ลูก ๆ สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนจะกังวลใจว่าอาการติดเกมอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของลูกน้อย และเราจะมีวิธีในการป้องกันและแก้ไขอาการติดเกมของลูกได้อย่างไร
ในบทความนี้ ไมโล จะมาบอกเคล็ดลับดูแลลูกอย่างไรให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เล่นเกมแล้วได้คุณประโยชน์ที่มากกว่าโทษ
เช็ก 4 อาการ แบบไหนที่เรียกว่าลูกเป็น ‘เด็กติดเกม’
เริ่มแรก เรามาทำความรู้จักกับ 4 เช็กลิสต์ ลักษณะของ “การติดเกม หรือ Game Addiction” กันดูก่อนว่าลูกของเรามีพฤติกรรมตามข้อเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากว่ามี คุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาแนวทางการแก้ไข รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบระยะยาวต่อบุคลิกภาพและการเรียนของพวกเขาในอนาคต
1. ใช้เวลากับการเล่นเกมมากจนเกินไป
ในที่นี้หมายถึงการที่ลูกนั่งเล่นเกมอยู่กับที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมากกว่า 3-4 ชั่วโมง/วัน หรือการนั่งเล่นทั้งวันทั้งคืนจนแทบไม่มีหยุดพัก ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การกินและการนอนหลับของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง
2. แสดงความก้าวร้าวเมื่อไม่พอใจ
เมื่อลูกจดจ่อกับเกมที่มีเนื้อหารุนแรงหรือส่งผลให้เกิดความเครียด เด็กจะมีพฤติกรรมชอบทำเสียงดัง โวยวาย และหงุดหงิดได้ง่าย หากคุณแม่ไม่รีบตักเตือน พวกเขาก็จะเคยชินจนเป็นนิสัย และแก้ได้ยากเมื่อโตขึ้น
3. สมาธิสั้น ไม่จดจ่อกับการเรียน
ในเกมจะมีสิ่งเร้าที่คอยรบกวนสมาธิของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ แสงสี หรือเสียงต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้พวกเขามองหาความสนุกหรือสิ่งที่น่าสนใจตลอดเวลา จนไม่สามารถจดจ่อกับอะไรที่ต้องใช้ความอดทน อย่างการเรียน การออกกำลังกาย หรือการทำงานบ้านได้
4. เริ่มตัดขาดจากโลกภายนอก
เพราะพวกเขามองว่ากิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกมออนไลน์เป็นอะไรที่น่าเบื่อ ใช้เวลานาน แถมยังต้องลงมือทำอย่างมากกว่าจะได้มาซึ่งรางวัล การเล่นเกมจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย จนนำไปสู่การเก็บตัว และไม่ยอมไปพบปะกับเพื่อนโรงเรียน
สาเหตุที่ลูกติดเกม ปัญหาเล็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่อาจมองข้าม
- การเลี้ยงดูที่คุณพ่อคุณแม่มักตามใจ ไม่สร้างระเบียบวินัยให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก อ่านเคล็ดลับการเลี้ยงลูกเพิ่มเติมได้ที่ เลี้ยงลูกให้ได้ดี
- การที่คนในครอบครัวใช้ชีวิตต่างคนต่างอยู่ ทำให้เด็กเหงาและรู้สึกเบื่อ
- สิ่งเร้ามากมายในโลกออนไลน์ที่ทำให้ลูกติดเกม และเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย
- สุขภาวะทางจิตในตัวเด็กเอง เช่น โรคสมาธิสั้น ซึมเศร้า หรือขาดการเข้าสังคม
วิธีการแก้ปัญหา รับมือเมื่อลูกติดเกม
1. สร้างวินัยในชีวิตประจำวัน
ฝึกวินัย ให้ลูกรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง เช่น เมื่อกลับจากโรงเรียนลูกต้องอาบน้ำกินข้าว พร้อมทำการบ้านให้เสร็จ คุณแม่ถึงจะอนุญาตให้เล่นเกมได้
2. จำกัดชั่วโมงการเล่น
เด็ก ๆ ไม่ควรใช้เวลาติดกับหน้าจอนานเกิน 2-3 ชั่วโมงต่อวัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้มงวดกับระยะเวลา รวมถึงวางเครื่องเล่นเกมไว้ในที่ส่วนรวม เพื่อให้สอดส่องดูแลได้ง่าย
3. หากิจกรรมสร้างสรรค์ ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น
อาการลูกติดเกมอาจเกิดจากการที่ลูกรู้สึกเบื่อหรือขาดสิ่งเร้าที่น่าสนใจ คุณพ่อคุณแม่สามารถหากิจกรรมสนุก ๆ สุดครีเอต แอคทีฟร่วมกันได้ที่บ้าน เช่น เกมกระโดดยาง สายลับเลเซอร์ เอาตัวรอดผ่านสิ่งกีดขวาง หรือการออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ชมการแสดงศิลปะ นอกจากจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวมากขึ้น อารมณ์ดี ร่างกายได้ขยับและแข็งแรงแล้ว พวกเขายังได้พัฒนาทักษะด้านความคิด การวางแผน และเปิดมุมมองอื่น ๆ ได้อีกด้วย
อ่านบทความ กิจกรรมสร้างสรรค์ชวนลูกแอคทีฟที่บ้านกับไมโล ช่วยเสริมพัฒนาการของลูกน้อยวัย 7-12 ปี เพิ่มเติมได้ ที่นี่
4. ให้รางวัลเมื่อพวกเขาทำสำเร็จ
ลูกจะเรียนรู้ได้ดีหากเราให้รางวัลเมื่อพวกเขาทำพฤติกรรมที่เหมาะสม เมื่อลูกยอมทำตามข้อตกลงที่ตั้งไว้ คุณแม่เองก็สามารถตอบแทนความตั้งใจเล็ก ๆ นี้ด้วยสิ่งที่เขาชอบ อย่างเช่น เมนูโปรดแสนอร่อย ทำง่าย มีประโยชน์จาก ไมโล ดูไอเดียและสูตรเพิ่มพลังให้กับคนเก่งประจำบ้านง่าย ๆ จากบทความนี้ได้เลยค่ะ
5. ปรึกษา พูดคุยกับจิตแพทย์
หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยมาพบกับคุณหมอ เพื่อช่วยกันหาปมปัญหาลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในใจ รวมถึงแนะแนวทางแก้ไขที่ได้ผลดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ปัญหาลูกติดเกมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ ไมโล เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนพร้อมที่จะลุยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ลูกรักเติบโตมามีทั้งสุขภาพกายและใจที่ดี เป็นคนเก่งยิ่งขึ้นไปในอนาคต
อ้างอิง
https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/psychiatrics/cap/knowledge53/I14.pdf
https://workpointtoday.com/g-3
https://new.camri.go.th/Knowledge/บทความ/สาเหตุ-เด็กติดเกม#:~:text=ปัจจุบันมีเครื่องมือที่มี,บุคลิกตนเอง%20ได้เพื่อนใน
https://www.patrangsit.com/Content/4055/เล่นเกมส์กระตุ้นให้เกิด%20”โรคสมาธิสั้น”%20จริงหรือไม่%20/