มาดู 10 วิธีพูดสร้างกำลังใจให้ลูกช่วงการแข่งขันกีฬาDT มาดู 10 วิธีพูดสร้างกำลังใจให้ลูกช่วงการแข่งขันกีฬาMB

มาดู 10 วิธีพูดสร้างกำลังใจให้ลูกช่วงการแข่งขันกีฬา

ในช่วงการเตรียมตัวเพื่อแข่งขันกีฬา ลูก ๆ หลายคนมักมีความรู้สึกตื่นเต้น วิตกกังวล และต้องการแรงเชียร์สนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่และโค้ช

กำลังใจของผู้ปกครองสำคัญต่อลูกอย่างไร ?

• สร้างพลังกาย พลังใจ ให้ลูกพร้อมลุยจนสำเร็จ

• เปลี่ยนบรรยากาศการฝึกซ้อมที่เคร่งเครียดและกดดันให้เป็นความสนุกสนาน

• สร้างประสบการณ์น่าจดจำต่อการเล่นกีฬา ไม่ว่าพวกเขาจะทำออกมาได้ดีหรือไม่

มาดู 10 วิธีสร้างพลังบวกให้ลูกรักเมื่อต้องลงแข่งกีฬาจากคำพูดง่าย ๆ เพื่อแสดงถึงความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อพวกเขากันค่ะ

มาดู 10 วิธีพูดสร้างกำลังใจ1

 

1. พูดชมสิ่งที่ลูกทำได้ดี โดยเน้นการกระทำ

เพื่อให้เด็กเห็นภาพและสามารถทบทวนพฤติกรรมที่ทำไปได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างสิ่งที่ควรพูด เช่น “ลูกเสิร์ฟคะแนนที่ 9 ในเซตที่ 1 หนูโยนลูกสุดแขนและผลักมือโดนกลางลูก ถือว่าทำได้ดีมาก”

ตัวอย่างสิ่งที่ไม่ควรพูด เช่น “เมื่อกี้ลูกเสิร์ฟได้สวยมาก” เพราะค่อนข้างคลุมเครือ เด็ก ๆ อาจนึกไม่ออกว่าลูกไหน

2. ชื่นชมออกมาจากใจ

โดยต้องสอดคล้องกับสิ่งที่ลูกทำไปหรือสิ่งที่คุณแม่รู้สึกจริง เพราะเด็ก ๆ จะรับรู้ความจริงใจของเราได้จากน้ำเสียง สีหน้า แววตา และการกระทำ เช่น การชมลูกว่า “เยี่ยมมาก” ควรมาพร้อมกับท่ายกนิ้ว หรือพยักหน้าประกอบด้วย

3. เลือกใช้แต่คำพูดเชิงบวก

เพื่อให้กำลังใจแทนการตอกย้ำข้อผิดพลาดที่พวกเขาแก้ไขไม่ได้แล้ว

ตัวอย่างสิ่งที่ควรพูด เช่น “ลูกทำได้ดีแล้ว” หรือ “ครั้งหน้าค่อยลองใหม่”

ตัวอย่างสิ่งที่ไม่ควรพูด เช่น “ไม่น่าพลาดเลย” “อีกนิดเดียว” หรือ “น่าเสียดาย”

4. บอกในสิ่งที่ลูกต้องทำ เมื่อยังอยู่ในเกม

หากยังอยู่ในช่วงการแข่ง เด็ก ๆ จำเป็นต้องใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า คุณพ่อคุณแม่ที่ยืนอยู่นอกสนามและมองเห็นเกมในภาพรวมควรใช้วิธีออกคำสั่งอย่างชัดเจน จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้เร็วมากขึ้น

ตัวอย่างสิ่งที่ควรพูด เช่น “วิ่งไปดักลูกทางซ้าย”

ตัวอย่างสิ่งที่ไม่ควรพูด เช่น “ทำไมไม่ทำอย่างนั้น หรืออย่างนี้ล่ะ?”

5. ใช้คำกระชับที่เข้าใจได้ทันที

ระหว่างการแข่งขันกีฬาทำให้สื่อสารได้ยาก แต่คุณแม่สามารถกำหนดคำพูดเป็น “คีย์เวิร์ด” สั้น ๆ ที่ลูกฟังแล้วสามารถเข้าใจความหมาย และสิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อได้ทันที เช่น

คำว่า “พร้อม” หมายถึง พวกเขาได้จัดระเบียบร่างกาย และเตรียมพร้อมต่อการรับลูกเสิร์ฟจากฝ่ายตรงข้ามแล้ว

คำว่า “นิ่ง” หมายถึง การหยุดอยู่กับที่ รวมทั้งควบคุมการหายใจด้วย

6. ยิ้มให้ทุกครั้งที่ลูกหันมาสบตา

หลายครั้งที่นักกีฬาตัวน้อยหันหน้ามาสบตากับผู้ปกครองหรือผู้ฝึกสอนในระหว่างที่เกมยังดำเนินอยู่ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขาต้องการกำลังใจจากเรา ในฐานะกองเชียร์ที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรมีการส่งยิ้มและพยักหน้า เพื่อแสดงให้ลูกรับรู้ว่าเรายังให้ความสนใจเขาอยู่ตลอด

7. เลี่ยงการแสดงสีหน้าไม่พอใจ

ต่อจากข้อที่ 6. ในทางตรงกันข้าม หากลูก ๆ มองมาที่ผู้ปกครองแล้วรับรู้ถึงสีหน้าไม่พอใจ หรือเสียดายที่พวกเขาไม่สามารถเล่นได้ตามความคาดหวัง ก็จะเป็นการสร้างแรงกดดันและความวิตกกังวลให้กับนักกีฬามากขึ้น

8. ไม่สบถถ้อยคำหยาบคาย

เมื่อมีการตัดสินผลแพ้-ชนะ หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่เผลอแสดงคำพูดในเชิงลบออกไป เพราะจะเป็นการตอกย้ำหรือทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีได้

9. ให้ฟีดแบ็กที่นำไปสู่การพัฒนาตัวเอง

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ฟีดแบ็กลูก ๆ หลังจากจบการแข่งขันหรือการฝึกซ้อม ลองทำตามขั้นตอนนี้จะช่วยให้ลูกเห็นแนวทางพัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้น

• ให้ฟีดแบ็กเชิงบวกเป็นอันดับแรก เริ่มจากการชมในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี

• พูดถึงพฤติกรรมที่ลูกต้องปรับปรุงโดยไม่ตัดสินถูก-ผิด แต่เป็นการอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การกระทำนี้ก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร

• พูดถึงข้อตกลงและวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ โดยไม่ฝืนบังคับลูกจนเกินไป

10. ใช้คำว่า “สิ่งที่อยากให้เพิ่ม” แทน “สิ่งที่อยากให้ปรับปรุง/แก้ไข”

เชื่อว่าเด็กทุกคนมักทำเต็มที่กับการแข่งขันกีฬาอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้พวกเขา คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เป็นคำพูดที่ว่า “ลูกทำได้ดีแล้ว ครั้งหน้าแม่อยากให้เพิ่ม…” แทนการบอกสิ่งที่อยากให้ปรับปรุง/แก้ไข ซึ่งอาจแปลได้ว่าพวกเขายังพยายามไม่มากพอ

 

การส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬาเป็นผลดีต่อทั้งสุขภาพร่างกาย พัฒนาการด้านอารมณ์ และการเข้าสังคมของพวกเขาในอนาคต แต่ถึงอย่างนั้น การแข่งขันกีฬาก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญ และการได้รับกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้เขาพร้อมลุยกับทุกปัญหาจนสำเร็จ

มาดู 10 วิธีพูดสร้างกำลังใจ2