ลูกนอนดึกตื่นสายทำยังไงดี? เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านคงจะมีวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้ลูกของเราเข้านอนเร็ว เพื่อตื่นเช้ามาจะได้มีความสดชื่นพร้อมไปโรงเรียน วันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของเด็ก และเทคนิคในการแก้ปัญหาลูกนอนดึกเพิ่มเติมมาแนะนำคุณแม่ เพื่อให้วิธีเหล่านี้กลายเป็นเทคนิคประจำของแต่ละบ้านได้เลย
ข้อดีของเด็กนอนเร็ว
สำหรับลูกวัย 7-12 ปี การนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพ จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ช่วยให้เด็กแจ่มใส อารมณ์ดี มีสมาธิในการเรียนรู้ ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย เพราะช่วงที่หลับสนิทร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนในการเจริญเติบโตออกมา อีกทั้งสมองจะมีการเก็บประสบการณ์ที่ได้ในแต่ละวันไว้เป็นข้อมูลเรียนรู้เพิ่มขึ้น
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพคืออะไร ?
การนอนหลับเป็นกลไกธรรมชาติที่ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน โดยวงจรการนอนหลับ (Sleep cycle) แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ
1. ระยะการนอนในช่วงนี้เป็นช่วงการหลับตื้น (Non rapid eye movement sleep)
ระยะการนอนในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ร่างกายจะอยู่ในความเงียบสงบ จะมีคลื่นสมองชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมาเรียกว่า Sleep spindles ซึ่งการเกิด Sleep spindles ในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในวันต่อมาได้ดียิ่งขึ้น
2. ระยะการนอนในช่วงนี้เป็นการหลับลึก (Rapid eye movement sleep)
ระยะการนอนช่วงนี้เป็นช่วงที่สมองมีการทำงานสูง จะมีการเก็บข้อมูลความจำระยะสั้น และจะส่งข้อมูลไปเก็บความจำระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อความจำ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์
สำหรับเด็กในวัย 7-12 ปี การหลับทั้ง 2 ช่วงนี้ จะใช้เวลา 60 นาที ต่อ 1 รอบวงจรการนอนหลับ (Sleep cycle) และเพื่อเป็นการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เด็ก ๆ ควรให้ร่างกายได้นอนหลับอย่างต่อเป็นอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง
7 วิธีการแก้ไขปัญหาลูกนอนดึกตื่นสาย
เมื่อทราบถึงข้อดีและความสำคัญของการนอนหลับแล้ว สเต็ปถัดมาคือวิธีที่จะทำให้ลูกของเรา สามารถเข้านอนได้ตามเวลาเพื่อการนอนอย่างมีคุณภาพ มาดู 7 เทคนิคง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถนำไปปรับใช้กับลูกได้ทันที
1. ปรับสภาพแวดล้อมห้องนอน
ทำให้ห้องนอนเป็นห้องที่เงียบ ไม่มีโทรทัศน์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพราะอาจทำให้ลูกนอนดึกจากการเล่นหรือให้ความสนใจได้และควรปรับห้องให้อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป และควรเป็นห้องที่มืด มีม่านบังแสงในเวลากลางคืน และเปิดให้รับแสงแดดเป็นการปลุกในตอนเช้า
2. ปรับเวลาการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ควรปรับเวลาการเล่นให้ลูกเล่นได้จนถึงก่อนเวลาเข้านอน 2 ชั่วโมง เพราะแสงสีฟ้าจากแล็ปท็อป สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตจะทำให้เกิดภาวะตื่นตัวได้ง่ายและทำให้ลูกนอนดึกและตื่นสายได้ หรือหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการติดเกม อยากหาวิธีรับมือสามารถอ่านต่อได้ที่ ปัญหาเด็กติดเกม
3. ปรับตารางกิจกรรมหลังเลิกเรียน
ช่วงวัยประถม ลูก ๆ ของเราเริ่มมีความต้องการที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น เรียนพิเศษ เล่นดนตรี เล่นกีฬา เป็นต้น ตารางเหล่านี้คุณแม่สามารถจัดสรรให้ลงตัวในแต่ละวันไม่มากหรือน้อยเกินไป ควรจัดสรรเวลาให้พอดีมีเวลาพักผ่อนสักเล็กน้อยก่อนจะถึงเวลาเข้านอน เพื่อให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และพักสมองจากการคิดเรื่องต่าง ๆ ก่อนเข้านอนนั่นเอง
4. จัดเวลานอนและตื่นให้เหมาะสม
การจัดเวลานอนและตื่นที่เหมาะสมสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรจัดตารางให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต โดยส่วนมากแล้วก่อนไปโรงเรียนต้องให้เวลาลูกอาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว กินข้าวเช้า ก่อนจะออกจากบ้าน ซึ่งเวลาตื่นที่ทำให้ทุกอย่างทันเวลาคือ 6 โมงเช้า และลูกของเราต้องนอนให้ได้ 10-12 ชั่วโมง ดังนั้นเวลาเข้านอนที่เหมาะสมคือ 2 ทุ่ม
5. ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
เวลาที่เหมาะสมของการนอนสำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี คือเข้านอน 2 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า ดังนั้นหากเราฝึกให้ลูกคุ้นชินกับช่วงเวลาตื่น-นอนประมาณนี้ในทุก ๆ วัน จะส่งผลในระยะยาวที่จะช่วยแก้ปัญหาลูกนอนดึกตื่นสายได้เป็นอย่างดี
6. สื่อสารเชิงบวก
จาก 5 ข้อที่กล่าวไป คุณแม่ต้องมีการสื่อสารในเชิงบวก หลีกเลี่ยงการบังคับ อธิบายให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับสิ่งต่าง ๆ เช่น การนั่งพูดคุยกันถึงตารางในแต่ละวัน แนะนำเหตุผลถึงข้อดีการแบ่งเวลา จะช่วยให้ลูกของเรารับฟังได้ดีขึ้น
7. ติดตามผล
หลังจากที่ปรับสิ่งต่าง ๆ แล้ว คุณแม่ต้องติดตามผลว่าลูกรู้สึกอย่างไรบ้าง เพราะเป็นสิ่งพวกเขาต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อที่จะได้เช็กว่ามีสิ่งไหนที่ควรจะต้องปรับเพิ่มเติมอีกบ้างให้เหมาะสมกับลูกของเราที่สุด
จะเห็นได้ว่าปัญหาการที่ลูกนอนดึกตื่นสาย อาจไม่ใช่แค่เวลาที่เข้านอน แต่เป็นปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม การปรับพฤติกรรมที่ทั้งคุณแม่และลูกต้องพูดคุยกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาลูกนอนดึกตื่นสายได้ในระยะยาว ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป คุณแม่ทุกท่านสามารถนำความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ไปปรับใช้กันได้เลยนะคะ