ประโยชน์ของการเล่นกีฬาฟุตบอล ประโยชน์ของการเล่นกีฬาฟุตบอล

10 ประโยชน์ของการเล่นฟุตบอล พร้อมวิธีเตะบอลให้แรงและแม่นยำ

ฟุตบอล หนึ่งในกีฬาโปรดของเด็ก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกฝึกเดาะบอล และเล่นบอลได้ที่บ้านหรือจะพาไปเล่นที่สนามกับกลุ่มเพื่อนก็ได้เช่นกัน โดยประโยชน์ของการเล่นฟุตบอลนั้น นอกจากลูกจะได้ฝึกการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มความแข็งแรงแล้ว ลูกยังจะได้เพิ่มทักษะการเรียนรู้ที่ไวขึ้น รวมถึงยังได้ใช้หลักการคิดวิเคราะห์ ที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานระหว่างระบบประสาทและร่างกายร่วมกันอีกด้วย

10 ประโยชน์ของการเล่นกีฬาฟุตบอลตั้งแต่เด็ก

1. เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

ประโยชน์ของกีฬาฟุตบอลนั้นส่งเสริมในเรื่องของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อขาและข้อเข่า เนื่องจากการเล่นฟุตบอลจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกายเด็ก ช่วยให้ลูกควบคุมการทรงตัว และสามารถรักษาสมดุลของร่างกายได้ดีขึ้น

2. ส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

การเล่นฟุตบอลอาศัยองค์ประกอบหลายส่วนของร่างกายในการประสานงาน โดยลูกจะได้มีโอกาสฝึกทักษะการเคลื่อนไหว ไปพร้อม ๆ กับการใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ว่าจะต้องส่งลูกให้เพื่อนร่วมทีมตอนไหน หรือจะตัดสินใจยิงลูกเมื่อใด ดังนั้นประโยชน์ของฟุตบอลจะทำให้ลูกได้เพิ่มการเรียนรู้ และการควบคุมร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ช่วยให้หัวใจแข็งแรง

กีฬาฟุตบอลช่วยให้เด็ก ๆ มีร่างกายที่แข็งแรง รวมไปถึงอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจ โดยจะช่วยทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่น ไม่ตีบตัน เมื่อระบบเลือดทำงานเป็นปกติ เลือดก็จะถูกสูบฉีดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย และช่วยส่งไปที่หัวใจ นอกจากนี้ยังทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกประปรี้กระเปร่า และมีความแอคทีฟของร่างกายมากยิ่งขึ้น

4. เพิ่มการเผาผลาญ

กีฬาฟุตบอลยังมีประโยชน์ด้านเพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยให้เด็ก ๆ ได้รักษาน้ำหนักตัวมาตรฐานที่เป็นไปตามเกณฑ์อายุและช่วงวัยอย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณของไขมันดี (HDL) และลดปริมาณของไขมันเลว (LDL) ได้อีกด้วย

5. ช่วยให้ระบบหายใจทำงานเป็นปกติ

ฟุตบอลช่วยทำให้ลูกมีระบบหายใจที่เป็นปกติ และเด็กยังสามารถจัดการกับระบบหายใจได้ดีกว่าคนทั่วไป เพราะการเล่นฟุตบอลจะต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นร่างกายลูกจะค่อย ๆ เรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับการเดินและการหายใจตอนวิ่งในสนาม และเมื่อระบบหายใจดี ก็จะช่วยส่งเสริมให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจน และการทำงานของหัวใจดีด้วยเช่นกัน วิ่งช่วยลดอะไรบ้าง ดูประโยชน์ของการวิ่งเพิ่มเติม

6. ได้พัฒนาทักษะด้านอารมณ์

การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีขึ้น รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังทำให้ร่างกายได้หลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขอย่างโดพามีน (Dopamine) รวมถึงเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างสมวัย

7. ได้พัฒนาด้านทักษะการเข้าสังคม

การเล่นฟุตบอลเป็นทีมจะช่วยลูกจะได้มีการพัฒนาการด้านการเรียนรู้ การให้ความร่วมมือกับผู้อื่น ลูกจะได้มีความสามารถในการปรับตัว มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีทักษะการเจรจา และยังมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นอีกด้วย

8. รู้จักการแสดงออกอย่างเหมาะสม

ลูกจะได้เรียนรู้วิธีการวางตัวอย่างเหมาะสมเมื่อต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น รวมถึงท่าทางการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝึกให้ลูกเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นวัยที่มีการจดจำและการเรียนรู้ที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ในเกมการแข่งขันใดก็ตาม ลูกก็จะสามารถวางตัวได้อย่างเหมาะสมจากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา

9. มีระเบียบวินัยและรับผิดชอบในหน้าที่

ประโยชน์ของกีฟุตบอลอีกอย่างคือ ลูกจะได้ฝึกวินัยและรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองอย่างเต็มที่จากกีฬาฟุตบอล เพราะเด็กจะต้องมีการฝึกซ้อมวอร์มร่างกายเป็นประจำก่อนลงสนาม เพื่อป้องกันอาการกล้ามเนื้อบาดเจ็บ รวมถึงเด็กจะต้องรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ตัวเองตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายเมื่อต้องลงแข่งในสนามจริง

10. ต่อยอดสู่เส้นทางนักกีฬามืออาชีพ

หากลูกค้นพบตัวตนและมีความชอบในกีฬาฟุตบอล อนาคตก็มีโอกาสสูงที่ลูกจะสามารถพัฒนาฝีมือ และต่อยอดทักษะที่มีไปสู่เส้นทางนักฟุตบอลมืออาชีพได้ไม่ยาก เพราะเมื่อเด็กได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ชอบ ก็ย่อมจะทำสิ่งนั้นได้ดี และสามารถเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต

รวมเทคนิคการเดาะบอล

 

5 วิธีเดาะบอลพื้นฐาน

 

วิธีเดาะบอล คือ หนึ่งในขั้นตอนการฝึกควบคุมการใช้เท้า เพื่อใช้ในการเลี้ยงลูกบอลให้อยู่บนเท้า โดยหลัก ๆ แล้วมีอยู่ 5 วิธีดังนี้

1. ฝึกเดาะบอลโดยเริ่มจากการใช้มือช่วย

• เริ่มต้นจากถือลูกบอลให้อยู่ในระดับเดียวกับหน้าอก

• ปล่อยลูกบอลลงพื้นด้วยน้ำหนักมือที่ลูกบอลจะเด้งกลับขึ้นมาได้

• หลังจากนั้นเริ่มใช้เท้าเตะให้ลูกบอลลอยกลับขึ้นมาสูงราวบริเวณหน้าอก

• ทำซ้ำ ๆ จนเกิดความเคยชินและชำนาญ

• เมื่อชำนาญแล้วให้ค่อย ๆ รับและเตะบอลกลับขึ้นมาใหม่โดยที่ลูกบอลไม่แตะพื้น

2. การเดาะบอลแบบสลับเท้า

• เริ่มจากปล่อยลูกบอลให้เด้งลงพื้น และเริ่มเดาะบอลขึ้นในอากาศด้วยเท้าขวา

• เมื่อบอลกำลังตกลงมาให้สลับใช้เท้าซ้ายเตะบอลกลับขึ้นไป

• เมื่อใช้เท้าซ้ายเตะบอลขึ้นมาแล้ว ให้ใช้มือจับบอล

• เริ่มต้นทำขั้นตอนแรกใหม่วนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดความชำนาญ

• พยายามเดาะให้ลูกบอลสูงไม่เกินระดับเอว เพื่อความง่ายในการควบคุมลูกบอล

3. วิธีเดาะบอลด้วยหลังเท้า

• วางลูกบอลลง ใช้เท้าข้างที่ถนัดหมุนลูกฟุตบอลขึ้นมาบนหลังเท้า

• เตะลูกฟุตบอลขึ้นบนอากาศ ความสูงไม่เกินบริเวณเอว

• เมื่อบอลกำลังจะตกลงให้ใช้เท้าอีกข้างหนึ่งสลับมาเดาะลูกบอล

• สลับไปมาซ้ำ ๆ จนเกิดความชำนาญ

4. เดาะบอลด้วยเข่า

• ยกเข่าให้ตั้งฉากกับร่างกาย

• ถือลูกบอลไว้บริเวณเหนือหน้าขา และปล่อยให้บอลหล่นลงบนบริเวณหน้าขา

• เดาะบอลด้วยหน้าขาซ้ำ ๆ จนร่างกายสามารถควบคุมทิศทางของลูกบอลได้

• เมื่อชำนาญแล้วให้เริ่มเดาะบอลโดยการสลับหน้าขา

5. วิธีเดาะบอลด้วยส่วนอื่นของร่างกาย

หากเด็ก ๆ มีความเชี่ยวชาญแล้ว สามารถให้ลูกลองฝึกใช้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายในการเดาะบอลได้เช่นกัน

• ใช้ศีรษะในการเดาะลูกบอล

o โยนลูกบอลขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้หน้าผากในการเด้งฟุตบอลขึ้นไปในอากาศ

• ใช้หัวไหล่ในการควบคุมบอล

o โยนลูกบอลขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้หัวไหล่เดาะบอลขึ้นไปในอากาศ

เมื่อเด็ก ๆ ฝึกวิธีเดาะบอลแต่ละท่าจนชำนาญแล้ว สามารถลองผสมท่าทางการเดาะบอลแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ เพื่อฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ จนสามารถควบคุมร่างกาย และทิศทางของลูกบอลได้ในแบบที่ต้องการ

สอนวิธีเตะบอลให้แรงและแม่นยำ

 

สอนเตะบอล - วิธีเตะบอลให้แรง

 

สำหรับวิธีเตะบอลให้แรงและพุ่งไกลนั้น หลัก ๆ แล้วจะเน้นที่การทรงตัว และการวางท่าของผู้เตะ โดยมีวิธีเตะบอล ดังนี้

1. ท่าทางการยืน

ทิศทางการยืนที่จะเป็นแรงส่งให้ลูกบอลพุ่งไปได้ไกลนั้น คือ การยืนเป็นแนวทแยงจากลูกฟุตบอลประมาณ 45 องศา โดยมีระยะห่างประมาณ 2 เมตร ถ้าหากถนัดซ้ายให้ยืนไปทางด้านขวา และถ้าถนัดเตะด้านขวา ให้ยืนตำแหน่งทแยงไปทางซ้าย

2. การเตะลูกบอล

เมื่อได้ตำแหน่งการยืนที่ถูกต้องแล้ว จากนั้นก็ทำการวิ่งเหยาะ ๆ เข้าไปหาลูกบอล เพื่อให้ได้จังหวะในการเตะลูกบอลออกไป ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำให้ตำแหน่งของเท้านั้น แตะไปโดนที่จุดกึ่งกลางของลูกบอล หากทำถูกต้องก็จะทำให้เกิดแรงส่งที่แม่นยำ และพุ่งไปได้ไกล

ทั้งนี้วิธีเตะบอลนั้นไม่จำเป็นต้องออกสุดแรงที่มี เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง และเท้าขาดความไว และอาจจะทำให้ส่งบอลไปได้ไม่ไกลอย่างที่คิด

ดูวิดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนเตะบอลที่บ้านได้ที่นี่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.bangkokhospital.com/content/football-for-health
https://www.scimath.org/article-physics/item/11212-2019-12-19-04-34-38
https://ball2night.com/football-news/football-basic-juggle.php?id=291