การเสริมสร้างวินัยให้ลูก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างให้กับพวกเขาได้ตั้งแต่ที่บ้าน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของวินัยพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การตรงต่อเวลา ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาตื่นนอน กำหนดเวลากินอาหาร ไปจนถึงเวลาเข้านอน หรือแม้แต่หน้าที่ภายในบ้าน เช่น การให้ลูกเก็บจานข้าวไปล้างด้วยตัวเองทุกครั้ง รวมไปถึงการจัดเก็บสิ่งของที่ตัวเองนำออกมาเล่นหรือใช้งานกลับเข้าที่เดิมอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ลูก ๆ ของเราสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้มากยิ่งขึ้นคือ “การสร้างวินัยเชิงบวก”
วินัยเชิงบวก คืออะไร ?
การสร้างวินัยเชิงบวก คือการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เด็กรู้จักเข้าใจและสามารถแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมใดที่ควรทำ และพฤติกรรมใดควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้เด็กเกิดการปรับพฤติกรรมไปในแนวทางที่ดีขึ้นและมีผลต่อเนื่องไปในอนาคต
10 วิธีการฝึกให้ลูกมีวินัยเชิงบวก
1. เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นจากตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับลูก เนื่องจากเด็ก ๆ มักจะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว เด็กจะซึมซับพฤติกรรมและการแสดงออกจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น หากต้องการให้ลูกมีระเบียบวินัย จึงควรทำเป็นตัวอย่าง เช่น การตรงต่อเวลา การรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จสิ้น เป็นต้น
2. การสอนให้ชัดเจน
การสอนให้เด็กมีวินัยเชิงบวก สิ่งสำคัญคือคำพูดต้องชัดเจนและเข้าใจง่าย ไม่ทำให้สับสน เช่น คำพูดลักษณะ “ห้าม ไม่ อย่า หยุด” สมองต้องประมวลผล 2 รอบ ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกทำอะไร ให้บอกตรง ๆ ไปที่พฤติกรรมหรือสิ่งที่อยากให้ทำ เช่น แทนที่จะบอกว่า “อย่าวิ่งนะลูก” ให้เปลี่ยนเป็น “ค่อย ๆ เดินนะลูก”
3. ไม่บังคับให้เด็กทำ
ไม่ควรบังคับให้เด็กทำอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ ควรปรับเปลี่ยนไปใช้การชักจูงและยอมรับให้ทำด้วยความเต็มใจ สำหรับเด็กในวัยประถมนั้น ควรใช้เหตุผลในการกระทำเป็นตัวชักจูงให้เด็กเกิดความสมัครใจที่จะทำเอง เช่น ชักจูงให้ลูกเก็บที่นอน สอนให้เห็นประโยชน์ของการเก็บที่นอนให้เข้าที่เพราะจะทำให้ที่นอนเป็นระเบียบ ดูสะอาดสะอ้าน และเป็นการเริ่มต้นวันด้วยกิจกรรมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น
4. กำหนดเป้าหมายให้ชัด
ให้ทางเลือก 2 ทาง และต้องเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเสมอ เช่น
-
ลูกไม่ยอมกินผัก : คุณพ่อคุณแม่ให้ทางเลือก คือ “หนูจะกิน 1 ชิ้น หรือ 2 ชิ้น” แทนที่จะพูดว่า “หนูจะกินหรือไม่กิน”
-
ลูกไม่ยอมอาบน้ำ :คุณพ่อคุณแม่ให้ทางเลือก คือ “หนูจะอาบเองหรือให้แม่อาบให้” แทนที่จะพูดว่า “หนูจะอาบหรือไม่อาบ” ซึ่งเมื่อเด็กเลือก “ไม่” พ่อแม่ก็มักไม่ยอม ทำให้เด็กสับสนว่าแล้วจะให้เลือกทำไม
5. การเบี่ยงเบนความสนใจของลูก
เด็กบางคนอาจจะยังมีความสนใจ หรือสมาธิค่อนข้างสั้น ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สามารถใช้วิธีเบี่ยงเบนให้เด็กหันไปสนใจอย่างอื่นแทน เช่น หากลูกกำลังกวนคุณพ่อช่วงทำงาน ให้คุณแม่ชวนลูกไปทำอาหารด้วยกัน เพื่อเป็นการให้กำลังคุณพ่อหลังจากทำงานเสร็จ จะชวนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้อีกด้วย
6. ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
การปลูกฝังวินัยเชิงบวกเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กยอมรับและจดจำได้ ดังนั้นจึงควรใช้เวลา และความอดทนในการฝึกสอน ที่สำคัญคือการทำสิ่งนั้นให้เหมือนกันทุกครั้ง เช่น สอนลูกให้เก็บที่นอนหลังจากตื่นนอนทุกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกทำบ้างเป็นครั้งคราว การจดจำและเรียนรู้อาจจะไม่ต่อเนื่องจนทำให้เด็กมองข้ามการฝึกฝนบางเรื่องไปได้
7. การชมเชยและความเชื่อมั่น
เริ่มต้นจากการชม โดยทำการชมให้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ดี โดยวิธีการชมที่มีคุณภาพ คือ คำชม + ระบุพฤติกรรมเจาะจง + ระบุคุณลักษณะที่อธิบายพฤติกรรมนั้น เช่น “ลูกเก่งมาก ลูกเก็บของเล่นเอง ลูกมีความรับผิดชอบมาก” เมื่อเกิดลักษณะการชมลูกจะรู้สึกว่าคุณแม่เชื่อมั่นและไว้ใจในตัวเขา เป็นหนึ่งในการสร้างวินัยเชิงบวก ที่ทำให้เด็ก ๆ ทำตามระเบียบวินัยอย่างเต็มใจ
8. กำหนดเวลาให้ชัดเจน
การตั้งเวลา ฝึกให้รู้จักการวางแผน เรียงลำดับความสำคัญอะไร ควรทำก่อน - หลัง กำหนดเงื่อนไขให้น่าสนใจ เช่น “ถ้าลูกทำการบ้านเสร็จแล้ว ไปเล่นได้” หรือ “ถ้าลูกเข้านอนเร็ว แม่จะทำเมนูของโปรดให้ตอนเช้า” ซึ่งจะค่อย ๆ ฝึกฝนให้ลูกเห็นว่าทุกอย่างถ้าจัดลำดับได้ดี เขาสามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้ทั้งหมด
9. เคารพความคิดเห็นของลูก
ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ทุกวัยย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง การเปิดใจรับฟังความคิดของพวกเขาจะทำให้พ่อแม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกมากขึ้น เมื่อพ่อแม่รับฟังลูกอย่างเข้าใจ เด็ก ๆ ก็จะยอมรับสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับเขาเช่นเดียวกัน
10. คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน
การสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็น ควบคุมอารมณ์ และมีความหนักแน่น ที่สำคัญคือปฏิบัติตนไปในทิศทางเดียวกันอย่างเท่าเทียม เช่น เมื่อคนใดคนหนึ่งลงโทษลูก อีกคนไม่ควรใจอ่อนผ่อนปรนโทษนั้น เพราะจะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้ และสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนมาทั้งหมดก็จะไม่เกิดผลแต่อย่างใด
ดังนั้นการสร้างวินัยให้เด็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ และครอบครัวส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ‘การสร้างวินัยเชิงบวก’ ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านความคิดและอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลติดตัวมาจนถึงตอนโตอีกด้วย