สอนลูกให้เติบโตอย่างแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืน (ตอนที่ 1)
ในปัจจุบันนี้ คำว่า ‘Resilience (RQ) ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง’ ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก จนกลายเป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่ถูกพูดถึงและค้นหามากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา ‘การมีจิตใจที่เเข็งแกร่ง’ ที่ว่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในหลายๆ มิติในชีวิตของเรา ทั้งในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ ครอบครัว หน้าที่การงาน ฯลฯ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Resilience (RQ) ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่งเป็นทักษะสำคัญที่ต้องพัฒนากันไปตลอดชีวิต
แล้วทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะหน่วย ‘พ่อแม่ลูก’ ที่กำลังเผชิญความท้าทายของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันได้เลย
RESILIENCE (RQ) คืออะไร?
WHAT IS RESILIENCE (RQ)?
อะไรคือความใจสู้? ทำไมต้องฝึกหัวใจให้แข็งแกร่ง ล้มแล้วลุกได้ไว
ความหมายของคำว่า Resilience ตามพจนานุกรมแปลว่า ‘ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการหวนคืนสู่ความสุขภาพดี ความสุข หรือความแข็งแรงอีกครั้ง หลังจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ความผิดหวัง หรือปัญหาอื่นๆ’
เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษและหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เคยกล่าวไว้ว่า “อย่าตัดสินผมจากความสำเร็จ แต่ให้ดูจากจำนวนครั้งที่ผมล้มเหลวและลุกขึ้นมาอีกครั้ง”
เซเรนา วิลเลียมส์ อดีตนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลก ก็ได้กล่าวว่า “ฉันไม่ชอบการพ่ายแพ้เลยสักนิด ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ถึงกระนั้นฉันไม่ได้เติบโตจากชัยชนะ แต่เป็นความพ่ายแพ้ต่างหาก หากชัยชนะคือของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า ความพ่ายแพ้ก็คือบทเรียนที่พระองค์สอนเรา”
โคบี ไบรอันต์ ตำนานนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอ ยังเคยกล่าวว่า “ในทุกๆ ความยากลำบาก ทั้งความกดดันหรือความท้าทายใดๆ ต่างล้วนเป็นโอกาสให้ผมผงาดขึ้นมา”
สรุปให้เข้าใจกันง่ายๆ Resilience (RQ) ก็คือ ‘ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง’ หรือ ‘ทักษะความใจสู้’ ล้มแล้วลุกได้ไว เป็นหนึ่งในทักษะชีวิตหรือ Life Skill ที่ไม่ว่าคนเจเนอเรชั่นไหน อายุเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องเรียนรูู้ ฝึกฝน และนำไปประยุกต์ในทุกช่วงตอนของชีวิต
จริงอยู่ที่ว่าความใจสู้คือการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาฮึดได้อีกครั้ง แต่กระบวนการเรียกพลังกายและใจกลับคืนมา หรือที่นิยมเรียกกันว่าการ ‘bounce back’ นั้นไม่ได้ทำงานเหมือนการกระโดดแทรมโพลีน ไม่ใช่ว่ากระโดดแล้วพลังดึ๋งกลับคืนมาทันที แต่ให้มองว่าเป็นการค่อยๆ ไต่เขาขึ้นไป ต้องใช้ทั้งเวลา พละกำลัง และที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือและสนับสนุนจากคนรอบตัว
กำลังใจที่สำคัญที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ-คุณแม่ คนที่เลี้ยงดูจนเติบใหญ่มาด้วยกัน คนที่ผูกพันในระดับจิตใจ เพราะทักษะฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) ไม่ใช่ทักษะประเภทที่มีหรือไม่มีก็ได้ แต่เป็นทักษะที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปตลอดการเจริญเติบโต เป็นกุญแจสำคัญให้แต่ละคนก้าวข้ามผ่านความยากลำบาก ความผิดหวัง และสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่ค่อยดีต่อใจได้ในอนาคต
ในทางกลับกันหากมนุษย์เราไม่รู้จักการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาใจสู้ได้อีกครั้ง ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจจะเป็นตัวตนและความคิดที่ถูกครอบงำได้ง่าย จนอาจส่งผลเสียต่อกลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) ในที่สุด
ประโยชน์ของ Resilience (RQ) ในโลกปัจจุบัน
BENEFITS OF RESILIENCE (RQ) IN TODAY'S WORLD
จิตใจที่แข็งแกร่ง สู้ไม่ถอย จะทำให้ลูกอยู่รอดในสังคม รวมถึงนำพาความสำเร็จสู่ลูก
วินาทีแรกที่เราลืมตาดูโลก เส้นทางชีวิตก็ได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุดที่กำลังรออยู่ข้างหน้า ระหว่างทางที่เราเติบโต อาจเจอทางแยกที่จำต้องตัดสินใจเลือก หรือพบทางตันที่บังคับให้หันหลังกลับ สิ่งที่หลงเหลืออยู่คงหนีไม่พ้นเศษซากแห่งความเศร้าโศก ความท้อแท้ และความผิดหวัง ซึ่งการจะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปให้ได้นั้นก็ต้องอาศัย Resilience ทักษะการฝึกจิตใจให้แข็งแกร่งหรือความใจสู้นั่นเอง
บทบาทของพ่อแม่ในยุคนี้มีความท้าทายมากกว่าที่เคย ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว หรือบริบททางสังคมที่เปิดกว้างให้อิสระกับการสร้างเอกลักษณ์และค้นหาตัวตนของแต่ละบุคคล
การเลี้ยงเจ้าตัวเล็กให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่แค่เรื่อง ‘เรียนดี กีฬาเด่น’ เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงการสอนลูกและฝึกฝน ‘จิตใจ’ ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และเสริมภูมิคุ้มกันต่อสิ่งที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว
เส้นทางชีวิตของเด็กๆ มีด่านหินๆ ที่ต้องเผชิญหน้าอยู่มากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็กจิ๋วอย่างการบอกลารองเท้าคู่โปรด เรื่องที่มีผลต่อทิศทางชีวิตอย่างการสอบเข้าโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่สร้างผลกระทบยาวนานอย่างการสูญเสียคนใกล้ตัว
เอาโฟมยางกันกระแทกทุกชิ้นบนโลกมารวมกัน ก็ไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นกับจิตใจของลูกได้ เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับลูกบ้างในตลอดทุกช่วงชีวิตของเขา
แต่ ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง Resilience (RQ) ทำได้
‘ความใจสู้’ จะช่วยให้ลูกพยายามทำความเข้าใจและยอมรับความผิดหวัง ความผิดพลาด หรือสิ่งที่กระทบใจ เพราะการฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) อนุญาตให้ลูกล้มได้ เสียใจได้ ผิดหวังได้ โดยไม่มองว่ามันเป็นเรื่องที่เหยาะแหยะหรืออ่อนแอ จากนั้นจึงค่อยๆ มอบบทเรียนในการฟื้นฟูใจ ให้ฮึดสู้ ให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง จนสามารถเดินหน้าต่อไปกับบทใหม่ของชีวิต
คุณสมบัติ ‘ล้มแล้วลุกได้ไว’ จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เมื่อเจ้าตัวน้อยเติบโตจนถึงวัยที่ต้องออกไปเผชิญโลกด้วยตัวเอง ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน เวทีชีวิตของจริงไม่ได้วัดที่ใครเก่งกว่าใคร แต่วัดกันที่ใคร ‘ล้มแล้วลุกได้ไว’ และเดินต่อได้อย่างมั่นคง
สร้าง Resilience (RQ) อย่างไร ให้คงอยู่ตลอดชีวิต
BUILD RESILIENCE (RQ) THAT LAST A LIFETIME
ฝึกใจให้แข็งแกร่ง วันนี้ พรุ่งนี้ และตลอดชีวิต
ทักษะฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) คือ ทักษะชีวิตที่ประกอบไปด้วย ‘กรอบความคิด’ (Mindset) และ ‘ทักษะการรับมือ’ (Coping strategy) ที่จะส่องแสงนำทางเราไปโฟกัสที่ด้านดีเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา เช่น อาการบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา ความพ่ายแพ้ต่อทีมคู่แข่ง หรือฟอร์มการเล่นที่ไม่ได้ดั่งใจ
ดร. Rangan Chatterjee นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษและพ่อลูกสอง เคยให้มุมมองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกให้ใจสู้เอาไว้ว่า “ความใจสู้จะเกิดขึ้นได้ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ ไม่มีเวทมนตร์ใดจะช่วยเสกให้ลูกก้าวข้ามเวลาที่ยากเย็นได้เป็นปลิดทิ้ง แต่เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ข้างๆ ไม่ทิ้งกันไปไหนต่างหาก”
ไมโล เชื่อในการสอนลูกให้ ‘ใจสู้’ ผ่านการเล่นกีฬา เพื่อก้าวข้ามความท้าทายในทุกสนาม กีฬาจะช่วยสร้างความเคารพในตัวเอง รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจและความทะเยอทะยานสู่ความสำเร็จ ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเด็กๆ พบเจออุปสรรคหรือปัญหาในชีวิตจริง การฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) จะช่วยเติมเต็มความเชื่อมั่นในพลังและความสามารถของตน จนสามารถผ่านเรื่องราวต่างๆ ไปได้ด้วยตัวเอง และเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดี
แล้วจะสอนลูกอย่างไร? มีวิธีแนะนำไหม? ติดตามเทคนิคดีๆ ในการสร้างทักษะฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) ให้ลูกผ่านการเล่นกีฬาได้ในตอนต่อไป