ลูกอยู่ไม่นิ่ง แก้ได้ด้วยการฝึกสมาธิสำหรับเด็ก
ผู้ปกครองหลายท่านอาจจะเริ่มเจอปัญหาที่ว่า พอลูกเข้าวัยประถมแล้ว มักจะมีอาการอยู่ไม่นิ่ง หรือมีอาการเหมือนเด็กไฮเปอร์ อาจจะซนมากขึ้นเป็นพิเศษ หรือขาดสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ จนอาจจะส่งผลต่อการเรียน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ซึ่งจริง ๆ แล้วเด็กแต่ละวัยนั้นก็จะเริ่มมีความอยากรู้ อยากลอง ในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เข้าวัยประถมด้วยแล้วนั้น จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นผู้ปกครองก็ควรจะหมั่นสังเกตพฤติกรรมด้วยว่าการอยู่ไม่นิ่งของลูกนั้น เป็นเพราะพวกเขาขาดสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ หรือเปล่า
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ลูกของเราเริ่มขาดสมาธิ
จุดนี้อยากให้ผู้ปกครองลองสังเกตสภาพแวดล้อมภายในบ้านและโรงเรียน ว่ามีปัจจัยใดที่อาจส่งผลต่อสมาธิของลูกหรือไม่ เช่น
-
ผู้ปกครองอาจจะไม่เข้มงวดกับการสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูก หรือระเบียบวินัยพื้นฐานในบ้าน เช่น ปล่อยให้ลูกเข้านอนดึก ตื่นนอนสาย หรือตามใจลูกมากจนเกินไป โดยให้ลูกเล่นสนุกก่อนการทำการบ้านเสร็จ เป็นต้น
-
การเผลอใช้ถ้อยคำที่รุนแรงดุลูกในบางครั้ง จากผู้ปกครอง หรือคุณครู ตรงนี้ต้องคอยหมั่นเช็กตัวเองกันเพิ่มขึ้น เพราะคำพูดที่แรงเกินไปอาจจะส่งผลต่อจิตใจของเด็ก ๆ จนอาจทำให้ลูกเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้
-
การปล่อยให้เล่นโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตนานเกินกว่าวันละ 2 ชม. เพราะในเด็กวัย 7-12 ปีกำลังอยู่ในช่วงที่มีพัฒนาการสูง ควรจะให้พวกเขาทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย
-
การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เด็กในวัยเรียนควรพักผ่อนไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชม. เพราะจะส่งผลต่อการพัฒนาสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องสมาธิโดยตรง รวมถึงอาจทำให้ลูกป่วยบ่อยด้วย
ซึ่งหากมีปัจจัยเหล่านี้ อยากจะแนะนำและสนับสนุนให้ผู้ปกครองทุกท่าน เริ่มค่อย ๆ ปรับตัว เพื่อลดปัจจัยดังกล่าว แต่หากไม่ใช่ปัญหาเหล่านี้ แล้วลูกของเราก็ยังมีอาการอยู่ไม่นิ่ง หรือไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เราสามารถทำตามวิธีฝึกสมาธิสำหรับเด็กง่าย ๆ ด้านล่างนี้ได้เช่นกัน รวมถึงคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องมีการฝึกสมาธิลูก เพื่อให้พวกเขาสามารถมีสมาธิกับเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
การฝึกสมาธิเด็กมีความสำคัญอย่างไร
การฝึกสมาธิสำหรับเด็กถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาสมอง ทำให้เกิดความตั้งใจในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ และลูก ๆ ก็จะดีใจไปกับความสำเร็จของตัวเอง รวมไปถึงจะทำให้พวกเขาสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เข้าถึงคนอื่นง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่โรงเรียนหรือเพื่อนบ้าน
อีกทั้งการฝึกสมาธิสำหรับเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านสมอง เพราะเวลาเด็กนิ่งเป็นเวลานานระยะหนึ่ง จะเกิดการทำงานของสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) ซึ่งทำหน้าที่ในส่วนของการควบคุมความจำ ความคิด การแก้ปัญหา จะเกิดการทำงานของคลื่นสมองอัลฟ่า (Alpha brainwave) ได้ดี ทำให้เด็กเกิดสมาธิ การจำ การเรียนรู้ และการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
วิธีการฝึกสมาธิสำหรับเด็กวัยเรียนควรทำอย่างไร
1. ลดสิ่งเร้ารอบข้าง
ในขณะที่ลูกมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น อ่านหนังสืออยู่ ไม่ควรเปิดเพลงเสียงดัง ควรทำให้สภาพแวดล้อมให้เงียบสงบที่สุด จะเป็นการฝึกสมาธิเด็กกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
2. สร้างแรงจูงใจ
ผู้ปกครองอาจจะต้องเสริมแรงผลักดัน เพื่อให้มีกำลังใจการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย เช่น ให้เล่นเกม 1 ชั่วโมงหลังจากที่ตั้งใจทำการบ้าน เด็กจะรู้สึกมีเป้าหมาย และจะตั้งใจทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ
3. เลือกกิจกรรมหรือเกมฝึกทักษะ
เด็กในแต่ละช่วงอายุจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป เด็กวัยอายุ 7-12 ปี เหมาะกับฝึกเล่นเกมที่มีกฏ กติกา หรือเลือกกิจกรรมฝึกสมาธิเด็ก ที่ได้เสริมสร้างประสบการณ์ไปในตัว เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น
>4. ลดความเครียด คลายความกังวล
ความเครียด และความกังวลส่งผลโดยตรงกับสมาธิของเด็กในวัยประถม คุณพ่อคุณแม่เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่จะช่วยลดปัจจัยความเครียดรอบด้านได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางบ้าน หรือความเครียดจากตัวเด็กเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกหากิจกรรมคลายเครียดเพื่อให้ลูกผ่อนคลาย และสมองเปิดโล่งพร้อมตั้งสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการพาลูกเที่ยวเสริมพัฒนาการ เล่นกีฬากับลูก ไปจนถึง กิจกรรมที่ให้ความบันเทิงอย่างการฟังเพลง หรือเล่นดนตรี เป็นต้น
5. เตรียมร่างกายให้พร้อม
พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน หรือเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะกับเด็กอายุ 7-12 ปี จำพวกโปรตีนและแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและพัฒนาการของร่างกายให้พร้อมทำทุกกิจกรรม
เพราะสมาธิที่ดีก็จะทำให้เรื่องอื่น ๆ ดีตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการตั้งใจทำบางสิ่งบางอย่าง ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรใส่ใจกับการฝึกสมาธิเด็ก ตั้งแต่ตอนนี้ สอนเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ และสำเร็จลุล่วงไปได้ดีด้วยตัวเอง ทำให้เขาภาคภูมิใจ และดีใจไปกับความสำเร็จ
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องโภชนาการสำหรับเด็กได้ที่
ทำไมเด็กวัยเรียนจึงต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน?