อะไรคือนิยามของ “เด็กกินยาก” ?
ปัญหา “ลูกกินยาก” หรือ “ลูกไม่ยอมกินข้าว” เป็นปัญหาที่ผู้ปกครองพบเจอได้บ่อย และทำให้ผู้ปกครองหลายคนมีความกังวล กลัวว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเลือกกินอาหารในเด็ก (ที่เรียกว่า “กินยาก”) นั้นเป็นพฤติกรรมที่พบได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากช่วงเวลาที่เด็กโตขึ้นมาจากวัยทารก น้ำหนักและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นต่อปีจะค่อย ๆ ลดลง โดยจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตช้าลง ความต้องการพลังงานก็จะลดลงด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยก่อนหน้า จึงทำให้ความอยากอาหารลดลง ผู้ปกครองจึงอาจไม่สบายใจว่า ทำไมลูกถึงไม่ค่อยกินข้าว หรือ กินอาหารได้น้อยลง
ดังนั้น ความหมายที่ชัดเจนของอาการ “กินยาก” (picky eating) จึงไม่ได้มีตัวเลขกำหนดที่ตายตัว อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความคร่าว ๆ ก็คือการที่เด็กปฏิเสธการกินอาหารบ่อยครั้ง หรือมักจะกินแต่อาหารเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ทำให้ผู้ปกครองอาจเกิดความกังวลใจขึ้น
ทำไมลูกไม่ค่อยกินข้าว?
งานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า ผู้ปกครองจะคิดว่าลูกกินยาก เมื่อลูกปฏิเสธการลองอาหารใหม่ ๆ หรือผู้ปกครองคิดว่าปริมาณและความหลากหลายของอาหารที่เด็กกินนั้นน้อยเกินไป หรือช่วงเวลาในการกินอาหารไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ผู้ปกครองที่คิดว่าลูกกินข้าวยากนั้น ในทางกลับกันก็มีความพยายามที่จะเข้มงวดเรื่องการกินอาหารของลูกมากเช่นกัน
หรือบางครั้งก็อาจใช้วิธีติดสินบน โดยการให้อาหารที่ลูกชอบเป็นรางวัล หรือบางครั้งผู้ปกครองเองก็เลือกกินอาหารเช่นกัน การที่ผู้ปกครองมีความเข้มงวดกับการกินอาหารมากเกินไป และผู้ปกครองเองก็กินยาก จะยิ่งส่งเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมกินข้าวยากหรือไม่ค่อยกินข้าวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่ภาวะกินยากมีความรุนแรงจนต้องได้รับการรักษา โดยทั่วไปภาวะกินยากที่รุนแรงจะเกิดมาจากสาเหตุหลัก ๆ คือ
• อาการเจ็บป่วย : เป็นไข้ มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร มีโรคทางพันธุกรรมแต่กำเนิด ฯลฯ
• สิ่งแวดล้อม : การเข้าถึงอาหาร ทัศนคติของบุคคลรอบข้าง สิ่งแวดล้อมในมื้ออาหาร ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
• พฤติกรรม : โดยเฉพาะของผู้ปกครอง เช่น การบังคับป้อนอาหารแต่เด็ก ความกลัวอาหารที่เกิดตั้งแต่ยังเล็ก ฯลฯ
ลูกกินยากแล้วส่งผลอย่างไร?
หากลูกไม่ค่อยกินข้าวเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากความจำกัดของอาหารที่บริโภคไม่รุนแรงมาก ก็ไม่ถือเป็นภาวะอันตรายต่อลูก เพียงแต่ต้องอาศัยการปรับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ปกครองเพื่อแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม หากลูกไม่ยอมกินข้าวจนส่งผลกระทบทำให้น้ำหนัก ส่วนสูงไม่เพิ่มตามปกติ มีสัญญาณของการขาดสารอาหาร ความจำกัดของอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ลูกไม่สบายบ่อยหรือมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น สำลัก อาเจียน ท้องเสีย ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ด้วยตนเอง ลูกมีอารมณ์รุนแรงอย่างมาก ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคหรือสภาวะที่เป็นที่มาของอาการกินยากนั้น ๆ ต่อไป
ลูกไม่ยอมกินข้าวดูแลทางโภชนาการอย่างไรดี?
หากเด็กไม่กินข้าวจนมีภาวะกินยากอย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล นักจิตบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักโภชนาการ/นักกำหนดอาหาร) อย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล โดยมีการติดตามและประเมินผลการรักษาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในเด็กที่มีภาวะกินยากแบบไม่รุนแรง ผู้ปกครองอาจลองทำตามแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ เพื่อช่วยให้เด็กสามารถยอมรับอาหารมากขึ้นได้
1) งดพฤติกรรมการให้อาหารอื่น ๆ ที่ลูกชอบ เมื่อลูกกินข้าวยาก
หลาย ๆ ครั้งผู้ปกครองจะมีความเป็นห่วงว่าลูกจะเกิดความหิว และมักจะรู้สึกผิด จึงยอมให้อาหารอื่น ๆ ที่ลูกชอบแทน พฤติกรรมนี้จะเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้ว่า เมื่อปฏิเสธอาหารก็จะได้รับประทานอาหารที่ชอบ แรงจูงใจในการลองอาหารใหม่ ๆ ของลูกก็จะลดลง
2) สอนให้ลูกนั่งรับประทานอาหารบนเก้าอี้ให้เรียบร้อย
สร้างบรรยากาศให้ไม่อึดอัด ไม่กดดัน ไม่มีสิ่งรบกวนอื่น ๆ ระหว่างการกินอาหาร ทั้งในมื้อหลักและมื้อว่าง จะทำให้สมาธิของลูกจดจ่อกับการกินอาหารมากขึ้น
3) ไม่สนับสนุนให้ลูกกินจุบจิบตลอดเวลา
เพราะลูกจะไม่หิวเวลาถึงมื้ออาหาร กำหนดระยะเวลาของมื้อหลักและมื้อว่างให้ชัดเจน (แต่หยืดหยุ่นได้) ให้มีระยะห่างระหว่างแต่ละมื้อบ้าง ให้ลูกพอรู้สึกหิว แต่ไม่หิวมากจนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการแสดงออกอย่างรุนแรง
4) ใช้การเสริมแรงเชิงบวก
ทำให้ช่วงเวลาการกินอาหารเป็นช่วงเวลาที่สนุก เริ่มจากอาหารที่ลูกมีแนวโน้มจะรับได้และคุ้นชิน จับคู่อาหารที่คุ้นชินกับไม่คุ้นชิน ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกและทำอาหาร ชมเชยเวลาลูกเลือกกินอาหารชนิดใหม่ ๆ เป็นต้น
อาหารสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุดในทุกมื้อ แต่เป็นอาหารที่เด็กยอมรับรสชาติได้ และให้คุณค่าทางโภชนาการที่พอเหมาะ หากเลือกอาหารอย่างหลากหลาย ในภาพรวม เด็กก็มีแนวโน้มที่จะได้รับสารอาหารครบถ้วนในระยะยาว
5) หลีกเลี่ยงการใช้การเสริมแรงเชิงลบ
เมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว ควรหลีกเลี่ยงการดุด่าว่ากล่าว การใช้กำลังป้อน บังคับให้กินอาหารจนหมดจาน เพราะจะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้กลไกความหิว – อิ่มตามธรรมชาติของร่างกาย และก็จะทำให้ลูกเกลียดอาหารที่ถูกบังคับให้กินด้วย
6) ไม่การติดสินบนให้ลูกกินผักด้วยการให้ขนมตามหลัง
เพราะจะเป็นการย้ำให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของขนม แต่ลดทอนคุณค่าของผักลง และจะทำให้ลูกกินข้าวยากขึ้น
ตัวอย่างที่ดีของจัดอาหารเป็นอย่างไร
หากคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกมีปัญหาไม่ยอมกินข้าว ควรแก้ปัญหาโดยการจัดอาหารที่ลูกชื่นชอบ พร้อมกับอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กวัยเรียนอื่น ๆ เพื่อเสริมสารอาหารในแต่ละมื้อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนอยู่เสมอ อย่างมื้อเช้าที่เหมาะสม ควรประกอบด้วยข้าวแป้ง เนื้อสัตว์หรืออาหารที่ให้โปรตีน นมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยหากมีผักและผลไม้ด้วยก็จะทำให้มื้อเช้าสมบูรณ์มากขึ้น
ตัวอย่างไอเดียอาหารเช้าที่มีคุณภาพสำหรับเด็กวัยเรียน เช่น แซนด์วิชทูน่า แซนด์วิชไข่ กับนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม 1 แก้ว หรือ ข้าวต้มเครื่อง - โจ๊ก (ใส่หมูสับ ไก่สับ ปลา ฯลฯ) หรือ ไข่กระทะกับขนมปังอบ เป็นต้น เสริมด้วยผลไม้ในปริมาณพอเหมาะ (1 จานรองกาแฟเล็ก) ก็จะทำให้เด็กได้ทั้งพลังงานและสารอาหารเต็มที่ พร้อมกับการเรียนในห้องเรียน
งานวิจัยพบว่าเด็กที่กินอาหารเช้าเป็นประจำ มีพฤติกรรมการเรียนในห้องที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเป็นประจำ (โดยไม่เกี่ยวกับภาวะโภชนาการหรือรายได้ของครอบครัวแต่อย่างใด) เนื่องจาก การอดอาหารระยะสั้น ๆ ในเด็กวัยเรียน อาจทำให้เกิดความเครียดได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนได้
หลังจากกลับจากโรงเรียน ผู้ปกครองอาจเตรียมอาหารว่างหลังเลิกเรียน เช่น นมถั่วเหลืองเจ(ไม่ใส่นมผง) ผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง โยเกิร์ต ขนมปัง นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม เพื่อให้เด็กได้กินเป็นมื้อว่าง เป็นพลังงานก่อนทำการบ้านหรือมีกิจกรรมทางกาย เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ฯลฯ หลังเลิกเรียน
จากนั้นจึงเตรียมอาหารเย็น โดยอาจเป็นข้าวสวย พร้อมกับข้าว 3 – 4 อย่าง ให้มีทั้งผักและเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบ โดยที่กับข้าวบางอย่างมีน้ำมันบ้าง (เช่น ผัดผักใส่กุ้ง ไข่เจียวแครอท ฯลฯ) บางอย่างมีน้ำมันน้อย (เช่น แกงจืดเต้าหู้ใส่ผัก ต้มยำเห็ดแบบไม่เผ็ด ฯลฯ) ให้เด็กได้เลือกกับข้าวกินด้วยตนเอง โดยที่ผู้ปกครองก็กินอาหารร่วมกับเด็กด้วย ก็จะทำให้เด็กได้เรียนรู้พฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสมได้
สรุป
ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว กินยาก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย หากมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ต้นเหตุ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมที่ไม่ได้มีความรุนแรงมาก การปรับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ปกครองร่วมกับลูกจะช่วยให้พฤติกรรมการกินอาหารดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำ เพื่อปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
Brown CL, Vander Schaaf EB, Cohen GM, Irby MB, Skelton JA. Association of Picky Eating and Food Neophobia with Weight: A Systematic Review. Child Obes. 2016 Aug;12(4):247-62.
Byrne R, Jansen E, Daniels L. Perceived fussy eating in Australian children at 14 months of age and subsequent use of maternal feeding practices at 2 years. Int J Behav Nutr Phys Act. 2017;14(1):123.
Cardona Cano S, Hoek HW, Bryant-Waugh R. Picky eating: the current state of research. Curr Opin Psychiatry. 2015 Nov;28(6):448-54.
Kerzner B, Milano K, MacLean WC Jr, Berall G, Stuart S, Chatoor I. A practical approach to classifying and managing feeding difficulties. Pediatrics. 2015 Feb;135(2):344-53.
Taylor CM, Emmett PM. Picky eating in children: causes and consequences. Proc Nutr Soc. 2019 May;78(2):161-169.
Taylor CM, Wernimont SM, Northstone K, Emmett PM. Picky/fussy eating in children: Review of definitions, assessment, prevalence and dietary intakes. Appetite. 2015 Dec;95:349-59
ABOUT THE AUTHOR